อาหารสำหรับผู้สูงวัย

โภชนบำบัดสำหรับผู้สูงวัย

 
 

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของผู้สูงวัย

 

ผู้สูงวัย เป็นผู้มีความอาวุโสมาก เป็นวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปซึ่งถือเป็นวัยเกษียณการทำงานแต่ไม่ได้หมายความรวมถึงผุ้ที่ไม่ต้่องการทำงาน ปกติ ผู้สูงวัย ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถ และมีความรู้มากจึงเป็นที่นับถือมากกว่าวัยอื่น ๆ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เป็นไปตามธรรมชาติอาจมีความเสื่อมถอยในการพัฒนาทางด้านร่างกาย แต่หากมีการดูแลสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก็อาจเป็นผู้สูงอายุที่มีความแข็งแรงทำงานต่อไปได้อีกยาวนาน
 
ในอีกมุมหนึ่งสำหรับสังคมไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นสังคมที่มีครอบครัวขนาดใหญ่ มีพ่อ แม่ ลูก ปุ่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ที่มีความผูกพันมากในครอบครัว มีการแสดงความเคารพยกย่องผู้อาวุโสโดยอายุที่มากกว่าและถือเป็นมงคมที่ดีในการเลี้ยงดูตอบแทนบุญคุณเมือท่านแก่เฒ่าหรือเจ็บป่วย ซึ่งเป็นสิ่งธรรมชาติอันแท้จริงของทุกคน และเป็นหน้าที่ของลูก ๆ หลาน ๆ ในการดูแลรักษาพยาบาลท่านอย่างดีที่สุด นับเป็นส่งที่ดีน่าเคารพยกย่องและเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นสังคมที่มีความอบอุ่น มีความสุขทางกายและใจของต่อกัน

ชมรมแพทย์แผนไทยลูกศิษย์ อ.สุวรรณ ตั้งจิตรเจริญ ขอชื่นชมในความกตัญญูของคนรุ่นใหม่ ลูก ๆ หลาน ๆ และท่านที่ให้ความรักและเอื้ออาทรต่อผู้สุงวัยกัน ในโอกาสนี้จึงขอนำเรื่องสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในผู้สูงอายุที่มีผลต่อสุขภาพของท่านซึงอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจสำหรับบางท่าน มาเผยแพร่เพื่อความเข้าใจอันดีและการดูแลสุขภาพที่ดีให้กับท่านผู้สูงวัย เพื่อความสุขของทุกคนในครอบครัวอันเป็นรากฐานของความเข้มแข็งของสังคม


วัยสูงอายุ เป็นวัยแห่งความสุขุมรอบคอบ เนื่องจากผ่านประสบการณ์มามากในการใช้ชีวิตแง่มุมต่าง ๆ ทำให้มองเห็นการณ์ไกล มีการตัดสินใจที่ดีกว่าวัยอื่น ๆ เป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตนับตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป แต่การเปลื่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงวัยมักจะเป็นไปในทางเสื่อมมากกว่าการเจริญเติบโต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของแต่ละคนจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกันและไม่เท่ากัน

 
ผู้สูงวัย มักจะมีสภาพความเสื่อมถอยทางร่างกายและจิตใจจะมีมากในระยะนี้ ขาดความคล่องแคล่ว ว่องไว ความจำเสื่อม ความคิดความอ่านช้าลง สภาพทางร่างกายเสื่อมถอย หูตึง ตามัว ผมหงอก เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นผลทำให้ดุลการเจริญเติบโตลดลง แต่ความเสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น ในลักษณะอนิจจังสังขารเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ และก็มีตาย ซึ่งผู้เข้าสู่วัยสูงอายุจะต้องยอมรับและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อสร้างความพร้อมในการปรับตัวที่จะเป็นผู้สูงอายุอย่างมีความสุข หรือดูแลให้ผู้สูงอายุมีความสุขตลอดไป



การเปลี่ยนแปลงตามอายุจะเกิดขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละคนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

โดยปกติแล้วเมื่อชีวิตย่างเข้าสู่ความมีอายุก็เหมือนกับว่าเดินเข้าสู่ความมืดมัว ความคิดเห็นเริ่มหดสั้น เบื่อหน่ายต่อการทำงาน ฯลฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวหน้าและซับซ้อนในองค์ประกอบของเซลล์ และลดความสามารถในการประสมประสานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายและจิตใจที่มีการดูแลเอาใจใส่แต่ละท่านไม่เท่ากัน ผู้สูงอายุที่มีการพัฒนาดูแลเอาใจใส่สุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจด้วยตนเองหรือจากคนรอบข้าง หรือจากสภาวะแวดล้อมจะเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขและมีอายุยืนยาวเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมและเป็นที่พึ่งพิงของสังคมได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้นก็ตามธรรมชาติย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยซึ่งเราอาจสังเกตการเปลี่ยนแปลงพอโดยสังเขปดังนี้



การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของผู้สูงวัย


 
ผม ผมเป็นสิ่งแรกของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ชัดภายนอกจากสีเดิมเป็นสีขาวแห้งและร่วงง่าย เนื่องมาจากเนื้อเยื่อหนังศีรษะเหี่ยวย่น การไหลเวียนของโลหิตลดลง เส้นผมได้อาหารไม่เพียงพอ และภาวะเครียดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นผมได้ง่าย การเปลี่ยนสีผมเป็นข้อบ่งชี้อันหนึ่งเท่านั้นที่จะบอกถึงความเสื่อมของร่างกาย แต่จะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆด้วย

 
ผิวหนัง เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อต่างๆจะขาดความตึงตัว เนื่องจากการลดจำนวนน้ำในเซลล์ต่อมเริ่มเหี่ยว นำมันใต้ผิวหนังมีน้อย เลือดมาเลี้ยงบริเวณผิวหนังก็น้อยลงทำให้ผิวหนังเริ่มเหี่ยวแห้ง หยาบ การลดจำนวนไขมันใต้ผิวหนังทำให้ผิวหนังหย่อนยาน ปรากฏรอยย่นชัดเจน ฉะนั้นคนวัยนี้จึงรู้สึกหนาวง่าย เพราะไขมันใต้ผิวหนังน้อยลง



กระดูก วัยสูงอายุเป็นวัยที่กระดูกเปราะง่าย ถ้าได้รับอันตรายเพียงเล็กน้อยจะทำให้กระดูกหักได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากมีการสลายตัวของแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น และอีกสาเหตุหนึ่งคือการขาดวิตามินดี เพราะผู้สูงอายุมักไม่ชอบแสงแดด จะอยู่แต่ภายในบ้าน และการกินอาหารไม่เพียงพอเพราะมีปัญหาเรื่องการเคี้ยว โอกาสขาดวิตามินดีจึงมีสูง เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป หมอนรองของกระดูกสันหลังมักจะกร่อนและแบนลงมาก ทำให้หลังโกงได้


เล็บ เล็บจะหนาแข็งและเปราะ เนื่องจากการไหลเวียนของโลหิตส่วนปลายน้อยลง ทำให้การจับตัวของแคลเซียมบริเวณเล็บลดลงด้วย

กล้ามเนื้อ ร่างกายประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่สำคัญ คือกล้ามเนื้อลาย ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อค้ำจุนโครงสร้างของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อแขน ขา เมื่อกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีความเสื่อมสมรรถภาพเกิดขึ้นจะมีผลให้ความคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องใช้กล้ามเนื้อลดลงไปด้วย กล้ามเนื้ออีกชนิดหนึ่งคือกล้ามเนื้อเรียบ เช่น ลำไส้ กล้ามเนื้อชนิดนี้จะเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง จะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าพวกแรก และอาจทำงานปกติดีตลอดวัยสูงอายุก็ได้

หู การได้ยินจะเริ่มเสียเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของประสาทรับเสียงในหูชั้นใน ทำให้การส่งกระแสประสาทของเสียงไปยังอวัยวะรับการได้ยินซึ่งอยู่ในหูเสียไป อาการหูตึงในผู้สูงอายุจะพบมากเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป

ตา ลักษณะตาของผู้สูงอายุจะเล็กลง เพราะจำนวนไขมันหลังลูกตาน้อยลง หนังตาบนจะตกหรือต่ำเนื่องจากการยืดหยุ่นของหนังตาลดลง ตาลึก มีความเสื่อมโทรมของประสาทตา มีความไวต่อแสงน้อยทำให้มองภาพใกล้ไม่ชัด การยืดหยุ่นของเลนส์เสียไป การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้สูงอายุมีสายตายาว นอกจากนี้จะมีวงแหวนขาวที่ขอบตาดำเกิดขึ้น แต่ไม่มีอันตรายใดๆ และไม่มีผลต่อการเห็น

ระบบทางเดินหายใจ ความจุของปอดจะลดลง ทำให้มีปริมาตรของอากาศค้างในปอดเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากความยืดหยุ่นของเนื้อปอด หลอดลมลดลง เยื่อหุ้มปอดแห้งทึบเป็นสาเหตุนำไปสู่การลดการขยายตัวของปอด ซึ่งเป็นสาเหตุส่งเสริมให้เกิดการคั่งของน้ำในปอดของคนสูงอายุได้ง่าย นอกจากนี้จะมีการเกาะจับของแคลเซียมในกระดูกอ่อนของกระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลัง ประกอบการทำงานของกล้ามเนื้อเสื่อมสมรรถภาพด้วย การเคลื่อนไหวของทรวงอกจึงถูกจำกัด การหายใจส่วนใหญ่จะต้องใช้กะบังลมช่วย ฉะนั้น ผู้สูงอายุมักจะเหนื่อยหอบได้ง่าย

ระบบทางเดินอาหาร ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหามาก นับตั้งแต่ปากซึ่งจะมีฟันที่โยกคลอน หักง่าย หรือใส่ฟันปลอม จึงมีปัญหาต่อการเคี้ยวมากและการรับรสจะไม่ดีเท่าที่ควร ผู้สูงอายุมักเลือกอาหารประเภทแป้งมากขึ้น เพราะเคี้ยวง่าย ทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็น เช่น โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ นอกจากนี้การหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหารลดลง ทำให้การย่อยและการดูดซึมอาหารลดลงไปด้วย เกิดภาวะการขาดอาหาร การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร และลำไส้น้อยลง ทำให้รู้สึกหิวน้อยลง และมีปัญหาท้องผูก

ระบบการไหลเวียนของเลือด ความยืดหยุ่นของเส้นเลือดมีน้อยลงเนื่องจากมีการจับของแคลเซียมตามผนังเส้นเลือดมากขึ้น ทำให้เส้นเลือดแข็งตัว ความแรงของชีพจรจะลดลง รูของเส้นเลือดก็แคบลงด้วย ทำให้มีแรงต้านทานการไหลเวียนของเลือดมากขึ้น ผู้สูงอายุจึงมักมีความดันเลือดสูงขึ้นกว่าปกติได้ ปริมาณเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆลดลงเป็นผลให้เกิดการตาย และการเสื่อมของอวัยวะต่างๆได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย

ระบบทางเดินปัสสาวะ ขนาดของไตจะเล็กลงและอัตราการกรองของไตจะลดลงด้วย นอกจากนี้กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะจะอ่อนกำลังลง ขนาดก็เล็กลงด้วย เป็นผลให้มีการขับถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะมากขึ้น ในผู้ชายมักมีต่อมลูกหมากโตทำให้ถ่ายปัสสาวะลำบากและถ่ายบ่อยขึ้น

ระบบต่อมไร้ท่อ ต่อมต่างๆ เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์และต่อมเพศ ตับอ่อน ฯลฯ จะทำงานน้อยลง เป็นผลให้มีการผลิตฮอร์โมนน้อยลงด้วย เช่น ตับอ่อนผลิตอินซูลินน้อยลงจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ผู้สูงอายุจึงเป็นเบาหวานได้มาก

ต่อมเพศ ทำงานลดลง ในผู้หญิงรังไข่จะหยุดทำงาน ทำให้ไม่มีประจำเดือน มดลูก เต้านมจะเหี่ยวแฟบ บางคนจะอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ในผู้ชายก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่มักน้อยและช้ากว่าผู้หญิง

ระบบประสาทและสมอง เซลล์ของประสาทและสมองจะลดลง ความรู้สึกความคิดจะช้า สติปัญญาจะเสื่อมถอยลง ความจำเสื่อม จำเรื่องในอดีตมากกว่าเรื่องปัจจุบัน ประสิทธิภาพการสั่งงานของสมองต่ำ นอกจากนี้ยังมีการตายและแฟบของระบบเซลล์ประสาทเป็นอย่างมาก เป็นผลให้เส้นประสาทเสื่อมเสียความสามารถทางกิจกรรมและความรู้สึกได้ ฉะนั้น การสำลักอาหารจึงพบได้มากในผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ผู้สูงวัยยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งชมรมแพทย์แผนไทยลูกศิษย์ อ.สุวรรณ ตั้งจิตรเจริญ จะนำเสนอในโอกาสหน้า โปรดติดตามกันได้ที่นี่ค่ะ

  
  
Share on Google Plus

}
    Blogger Comment
    Facebook Comment